สมาชิก

Login เข้าสู่ระบบ
กรุณากรอกอีเมล์ หรือ เลขใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม
กรุณากรอกรหัสผ่าน

สมัครสมาชิกใหม่

เพื่อสิทธิ์ในการเข้าใช้งานที่มากกว่า

Telemedicine ทางเลือกใหม่ในการพบแพทย์ในยุคโควิด-19

น.ต.หญิง วรวรรณ ศิริชัย หน่วยมะเร็งวิทยานรีเวช กองสูตินรีกรรม

โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ

          โทรเวช หรือ การแพทย์ทางไกล (telemedicine) หมายความว่า เป็นการส่งผ่าน หรือการสื่อสารเนื้อหาทางการแพทย์แผนปัจจุบันโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมทั้งจากสถานพยาบาล ภาครัฐและ/หรือเอกชนจากสถานที่หนึ่งไปยังอีกสถานที่หนึ่งโดยอาศัยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ การปรึกษา คำแนะนำ แก่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือบุคคลอื่นใด เพื่อการดำเนินการทางการแพทย์ ในกรอบแห่งความรู้ทางวิชาชีพเวชกรรม ตามภาวะ วิสัย และพฤติการณ์ที่เป็นอยู่ ทั้งนี้ โดยความ รับผิดชอบของผู้ส่งผ่านหรือการสื่อสารเนื้อหาทางการแพทย์นั้น ๆ(1โดยมีการนําเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์สามารถพูดคุยกันได้ในช่วงเวลาเดียวกัน ลักษณะแบบเดียวกับการสื่อสารผ่านระบบ VDO conference ที่ทำให้ขณะที่มีการสนทนาสามารถมองเห็นหน้ากันได้ทั้ง ฝ่าย ไร้ข้อจำกัดในเรื่องเวลาและสถานที่ ง่าย สะดวกสบาย ประหยัดเวลา ทั้งนี้แพทย์ยังสามารถใช้ช่วยทำการรักษา วินิจฉัยโรค และให้คำปรึกษาจากทางไกลได้(2)

    บริการของโทรเวช สามารถแบ่งรูปแบบการบริการ(3) โดยการให้บริการจะใช้วิธีการผ่านเครือข่ายสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และผ่านระบบ video Conference ที่มีประสิทธิภาพสูง รวมถึงการใช้สื่อมัลติมีเดีย โดยแบ่งออกเป็น ประเภทหลัก ตามลักษณะการรับ-ส่งข้อมูล

1. การรับและส่งต่อข้อมูลด้านการแพทย์ เช่น ภาพเอกซเรย์ ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ รวมถึงข้อมูลประวัติผู้ป่วยจากเวชระเบียน ไปให้แพทย์ เพื่อการวินิจฉัยโรคและวางแผนการรักษา การใช้บริการนี้จะเป็นการส่งข้อมูลผ่านทาง e-mail วิธีนี้มักนิยมใช้เพื่อปรึกษาขอการวินิจฉัยโรค

2. การติดตามการรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่อยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาล เช่น โรคเบาหวาน หอบหืด เป็นต้น

3. การพูดคุยโต้ตอบกันได้ทันทีแบบ Real Time ระหว่างผู้ป่วย และแพทย์ หรือบุคลากรทางการแพทย์โดยการนําเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น การพูดคุยผ่านทางโทรศัพท์ หรือ การสื่อสารผ่านระบบ video conference ที่สามารถเห็นหน้าคู่สนทนาทั้งสองฝ่ายได้ วิธีนี้ช่วยให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่อยู่โรงพยาบาลอื่นสามารถมาซักประวัติผู้ป่วย สั่งตรวจ ร่างกาย และประเมินสภาวะทางจิตใจของผู้ป่วยจากโรงพยาบาล

ขอปรึกษาได้ โดยมีแพทย์ที่ขอปรึกษาจากโรงพยาบาลนั้นอยู่กับผู้ป่วยด้วย เพื่อช่วยในการตรวจร่างกายตาม คําแนะนําของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

        ในช่วงการระบาดของโรคโควิด -19 หน่วยมะเร็งวิทยานรีเวช กองสูตินรีกรรม โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ ในช่วงกลางปี พ.ศ. 2564 ได้เริ่มนำการพูดคุยโต้ตอบแบบ Real time ผ่านระบบ video conference มาใช้แทนการเยี่ยมบ้านผู้ป่วยมะเร็งนรีเวช ที่เข้ารับการรักษาแบบประคับประคอง โดยมุ่งเน้นด้านคุณภาพชีวิตของทั้งผู้ป่วย ปรับขนาดยาแก้ปวด การตอบข้อสงสัยเรื่องการดูแลผู้ป่วยที่บ้านของผู้ที่ให้การดูแลผู้ป่วย ประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้การแพทย์ทางไกลนี้ ได้แก่ ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลโดยรวม ระยะเวลาการรอพบแพทย์ในการเดินทางเพื่อมารับการรักษาพยาบาล และช่วยให้ผู้ป่วยลดระยะเวลาการนอนพักรักษาในโรงพยาบาล นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ในด้านอื่นๆที่สรุปได้ดังนี้ เช่น ทําให้การรักษาพยาบาลมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงยกระดับมาตรฐานการให้บริการต่างๆ ต่อผู้ป่วย มีความถูกต้อง แม่นยํายิ่งขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงการรักษา ผู้ป่วยที่อยู่ในชนบทห่างไกลไม่จําเป็นต้องเดินทาง สามารถเข้าถึงการตรวจรักษาและได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ทันท่วงที(3)

จากข้อมูลสมาคม American Society of Clinical Oncology (ASCO) ปี พ.ศ. 2564 ได้มีการใช้โทรเวช ตั้งแต่ให้คำปรึกษาในผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ , การให้ข้อมูลเรื่องการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ผลข้างเคียง และติดตามผู้ป่วยหลังจากรับยาเคมีบำบัดไปแล้ว การประเมินผลของการรักษาจากการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ รวมไปถึงการจัดประชุมพูดคุยระหว่างทีมที่ดูแลกับครอบครัว แสดงให้เห็นว่าการใช้โทรเวช นั้นสามารถครอบคลุมได้ทุกขั้นตอนของการรักษา(4) และในข้อมูลของสมาคม European Society for medical Oncology (ESMO) ได้กล่าวถึงการดูแลผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ที่ไม่มีอาการเร่งด่วน ในช่วงที่มีการระบาดของ Covid-19 ติดตามผู้ป่วยผ่านระบบโทรเวช ภายใต้กรอบกฎหมาย โดยผู้ป่วยและญาติจะต้องเข้าใจ ยอมรับ ขั้นตอนการดูแลผ่านโปรแกรมนี้ ในระยะที่สามารถตรวจติดตามต่อเนื่อง เพื่อลดการมาโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น(5)

ซึ่งในประเทศไทย ปี พ.ศ.2563 ทางแพทยสภาจึงได้กำหนดแนวทางปฏิบัติการแพทย์ทางไกลหรือโทรเวชและคลินิกออนไลน์ กล่าวถึงการใช้เครื่องมือหรือโปรแกรมหรือปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence AI) ร่วมกับการใช้โทรเวชกรรมหรือการแพทย์ทางไกล จำต้องเป็นไปตามกฎหมายเฉพาะ เช่น กฎหมายที่เกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์ กฎหมายที่เกี่ยวกับยา เป็นต้น โดยวิธีการนี้เหมาะสมเฉพาะในบางโรค นอกจากนั้นยังมีความเสี่ยงที่เกิดจากระบบสารสนเทศด้วย จึงต้องทำภายใต้ระบบสารสนเทศที่มีมาตรฐานและความปลอดภัยที่เป็นสากล และได้รับการดูแลให้พร้อมใช้งาน และพร้อมรับการตรวจสอบ(1) เมื่อทางหน่วยมะเร็งวิทยานรีเวช ได้นำระบบโทรเวชมาใช้พบว่า มีข้อขัดข้องที่เกิดขึ้นจากระบบที่ใช้เชื่อมต่อไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ สัญญาณขาดหาย จนอาจเกิดความคลาดเคลื่อนของการสื่อสาร และเรื่องของยาแก้ปวดในกลุ่มสารเสพติด ผู้ป่วยหรือญาติยังจำเป็นต้องเข้ามารับยาเอง และเมื่อทบทวนข้อมูลจากแหล่งต่างๆ พอจะสรุปปัญหาที่พบจากการใช้ระบบโทรเวชได้ว่า มีตั้งแต่การจัดสรรทรัพยากรการแพทย์  ระบบที่ใช้เชื่อมต่อไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ เกิดความคลาดเคลื่อนในการรักษา ขาดข้อมูลเบื้องต้นในการประเมินอาการและการตรวจร่างกาย(3) ซึ่งจากผลสำรวจจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(6) พบว่าแพทย์และผู้รับบริการส่วนใหญ่พึงพอใจต่อการนำโทรเวชมาใช้ แต่จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในอีกหลาย ประเด็น ได้แก่ วิธีการลดความผิดพลาดในการอ่านค่า ข้อมูลจากอุปกรณ์ต่าง ๆ และคู่มือวิธีการรายงานผลที่สำคัญ นอกจากนี้ยังมีประเด็นด้านจริยธรรมที่ต้องศึกษา เพิ่มเติม เช่น การระบุสิทธิของผู้สูงอายุที่มีภาวะบกพร่อง ทางสติปัญญาที่จะปฏิเสธการใช้เครื่องมือทางโทรเวช การประเมินผลลัพธ์ด้านความปลอดภัยในการรักษา คุณภาพการรักษา อัตราการเสียชีวิต คุณภาพชีวิต ระบบ การรักษาข้อมูลให้ปลอดภัยและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล(6) ซึ่งเหมือนกับข้อมูลจากสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน กล่าวว่าแพทย์ที่ดำเนินการทางเวชกรรมผ่านระบบโทรเวช ก็มีความเสี่ยง ที่อาจเกิดจากการที่มิได้ทำการตรวจผู้ป่วยหรือขอคำปรึกษาโดยตรง ทำให้มีข้อจำกัดของข้อมูลในการให้คำปรึกษาปัญหาในการให้บริการโทรเวชดังกล่าว(7)

 

    บทสรุป

    ในวิกฤติโควิด-19 ของประเทศไทยได้เปิดโอกาสให้ระบบสาธารณสุขพัฒนาระบบบริการ New Normal Medical Service โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีความต่อเนื่องในการดูแลรักษาผู้ป่วย นอกจากนี้ประโยชน์จากการแพทย์ทางไกลและประโยชน์จากการสร้างเครือข่าย ทำให้ผู้รับบริการก็มีให้ความสำคัญด้านสุขภาพมากขึ้นและมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีผ่านสมาร์ทโฟน และคุ้นเคยกับการใช้แอพลิเคชั่นต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น โดยทางโรงพยาบาลแต่ละแห่งได้มีการปรับปรุงระบบโทรเวชให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ภายใต้แนวทางปฏิบัติการแพทย์ทางไกลหรือโทรเวชและคลินิกออนไลน์ของแพทยสภา และผู้รับบริการต้องเข้าใจข้อจำกัด และยอมการรับบริการดังกล่าว จึงอาจสรุปได้ว่าเรากำลังก้าวสู่ยุคใหม่ของการดูแลสุขภาพด้วยระบบการแพทย์ทางไกล

 

เอกสารอ้างอิง

1. ประกาศแพทยสภา ที่ 54/2563 เรื่อง แนวทางปฏิบัติการแพทย์ทางไกลหรือโทรเวช (telemedicine) และคลินิกออนไลน, ราชกิจานุเบกษา เล่มที่ ๑๓๗, ตอนพิเศษ ๑๖๖ งหน้า 52. (ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๖๓)

2. WHO. A health telematics policy in support of WHO’s Health-For-All strategy for global health development: report of the WHO group consultation on health telematics, 11–16 December, Geneva, 1997. Geneva: World Health Organization, 1998.

3. HEALTHmeNOW. Telemedicine คือ [Internet]. (ม.ป.ท.); ๒๕๖๒ [ปรับปรุงเมื่อ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๒เข้าถึงเมื่อ ๑๐ มีนาคม ๒๕๖๕]. เข้าถึงได้จาก https://healthmenowth.com/telemedicine/telemedicine-is/

4. Zon RT, Kennedy EB, Adelson K, Blau S, Dickson N, Gill D, et al. Telehealth in oncology: ASCO standards and practice recommendations. JCO Oncol Pract. 2021 Sep;17:546-64.

5. Carrera PM, Kantarjian HM, Blinder VS. The financial burden and distress of patients with cancer: understanding and stepping-up action on the financial toxicity of cancer treatment. CA Cancer J Clin. 2018 Mar;68:153-65. 6. ศิริรัตน์ วงศ์ประกรณ์กุลยุคใหม่ของการดูแลสุขภาพด้วยระบบนิเวศทางธุรกิจและเทเลเฮลธ์วารสาร Mahidol R2R e-Journal 2563; 2: 1-15.

7. มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน. เรื่องที่ ๘ แนวโน้มของเทคโนโลยีสารสนเทศต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๑โทรเวช (Telemedicine). สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ ๒๕  [อินเตอร์เน็ต]. (ม.ป.ท.). [เข้าถึงเมื่อ ๑๕ มีนาคม ๒๕๖๕]. เข้าถึงได้จาก: http// โทรเวช - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ (saranukromthai.or.th)