สมาชิก

Login เข้าสู่ระบบ
กรุณากรอกอีเมล์ หรือ เลขใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม
กรุณากรอกรหัสผ่าน

สมัครสมาชิกใหม่

เพื่อสิทธิ์ในการเข้าใช้งานที่มากกว่า

มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เป็นแล้วมีบุตรได้ไหม Endometrial cancer: Can they have children?

มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เป็นแล้วมีบุตรได้ไหม
Endometrial cancer: Can they have children?

แพทย์หญิงฐานิตา เวชโช

หน่วยมะเร็งวิทยานรีเวช งานสูตินรีเวชกรรม

โรงพยาบาลจุฬาภรณ์

บทนำ

          มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกพบได้เป็นลำดับที่ 6 ของมะเร็งในผู้หญิงทั่วโลก(1) และพบอุบัติการณ์ใหม่ร้อยละ 2.4 ในประเทศไทย(2) แม้ว่าส่วนใหญ่จะพบมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกในวัยหลังหมดประจำเดือน แต่ร้อยละ 5 พบได้ในผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 40 ปี(3) การรักษาหลักของมะเร็งชนิดนี้คือ การตัดมดลูก ตัดรังไข่ทั้งสองข้างและการผ่าตัดเพื่อกำหนดระยะของโรค (total hysterectomy, bilateral salpingo-oophorectomy and surgical staging ) แต่การพบมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกในผู้ป่วยอายุน้อยและยังมีความต้องการมีบุตรเป็นเรื่องที่ท้าทายต่อทีมการดูแลรักษาเป็นอย่างยิ่ง การดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้จำเป็นต้องใช้ทีมสหสาขา ได้แก่ มะเร็งนรีเวช เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ นักจิตวิทยา ผู้ป่วยและครอบครัว ให้เข้าใจถึงประโยชน์และความเสี่ยงของการรักษาที่แตกต่างไปจากการรักษามาตรฐาน

 

การเลือกผู้ป่วย

          ปัจจัยที่มีผลต่อพยากรณ์ของโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ได้แก่ การจัดลำดับความรุนแรงของชิ้นเนื้อ (grade)  ระยะของโรค (stage) การลุกลามถึงชั้นกล้ามเนื้อมดลูก (myometrial invasion) การลุกลามเข้าทางเดินน้ำเหลืองและหลอดเลือด (lymphovascular space invasion) และการลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง (lymph node status) ปัจจัยดังกล่าวจะประเมินได้จากชิ้นเนื้อที่ทำการผ่าตัดกำหนดระยะของโรคมะเร็งออกมาแล้ว ซึ่งทำไม่ได้ในผู้ป่วยที่ต้องการมีบุตรในอนาคต ดังนั้นแพทย์ผู้ดูแลจำเป็นต้องหาข้อมูลจากชิ้นเนื้อที่ได้จากการสุ่มตรวจเยื่อบุโพรงมดลูก (endometrial biopsy) ภาพรังสีวินิจฉัย เพื่อประเมินการลุกลามถึงชั้นกล้ามเนื้อมดลูก การลุกลามไปยังรังไข่ ต่อมน้ำเหลือง หรืออวัยวะข้างเคียง ซึ่งเป็นข้อห้ามของการเก็บมดลูกไว้เพื่อมีบุตรในอนาคต นอกจากนี้ควรคุยกับผู้ป่วยในแง่ข้อจำกัดของการประเมินโรคแบบยังไม่ได้ผ่าตัดกำหนดระยะมะเร็งอีกด้วย

          ข้อมูลจากการศึกษาของ GOG-33 ในผู้ป่วยมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกระยะที่ 1 และระยะที่ 2 แบบซ่อนเร้น ผู้ป่วยทุกรายได้รับการผ่าตัดกำหนดระยะมะเร็งตามมาตรฐานพบว่า โอกาสของการลุกลามไปต่อมน้ำเหลืองบริเวณอุ้งเชิงกราน (pelvic lymph node metastasis) ขึ้นอยู่กับ การจัดลำดับความรุนแรงของชิ้นเนื้อและความลึกของการลุกลามถึงชั้นกล้ามเนื้อมดลูก (depth of myometrial invasion)(4) และข้อมูลที่ให้การสนับสนุนจาก SEER data พบว่าผู้ป่วยที่เป็น grade 1 และไม่มีการลุกลามถึงชั้นกล้ามเนื้อมดลูก มีโอกาสที่จะมีการลุกลามไปต่อมเนื้อเหลืองร้อยละ 0.5 ในขณะที่ผู้ป่วยที่เป็น grade 2-3 และไม่มีการลุกลามถึงชั้นกล้ามเนื้อมดลูก มีโอกาสที่จะมีการลุกลามไปต่อมเนื้อเหลืองถึงร้อยละ 1.6(5) ดังนั้น ผู้ป่วยที่มี grade 2 ขึ้นไปหรือมีการลุกลามถึงชั้นกล้ามเนื้อมดลูก เป็นข้อห้ามของการรักษามะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกแบบรักษาภาวะการเจริญพันธุ์ (fertility preservation)

          แม้ว่าความแม่นยำและความไวของการสุ่มตรวจเยื่อบุโพรงมดลูกแบบผู้ป่วยนอก (office endometrial biopsy) จะสูง แต่มีรายงานว่าการตรวจด้วย pipelle อาจจะมีความแม่นยำน้อยกว่าเมื่อตรวจด้วยการขูดมดลูก (dilation and curettage) ในการศึกษาผู้ป่วย 482 รายที่เป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก grade 1 การตรวจเยื่อบุโพรงมดลูกด้วย pipelle มีโอกาสที่จะมี grade เพิ่มขึ้น หลังจากการผ่าตัดกำหนดระยะมะเร็งร้อยละ 17.4 ในขณะที่ผู้ป่วยที่ตรวจเยื่อบุโพรงมดลูกด้วยการขูดมดลูก มีโอกาสที่จะมี grade เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7(6) ดังนั้นการตรวจชิ้นเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูกจากการขูดมดลูกมีความแม่นยำมากกว่า ซึ่งมีความจำเป็นอย่างมากในการวินิจฉัยความรุนแรงของชิ้นเนื้อ เพื่อหารอยโรค grade 3 ให้ได้ นอกจากนี้ ESGO/ESHRE/ESGE ได้แนะนำเรื่องการส่องกล้องโพรงมดลูกและตัดชิ้นเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูกโดยตรง (hysteroscopy and directed endometrial biopsy) เป็นมาตรฐานสูงสุดในการวินิจฉัยมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก และแนะนำให้ใช้วิธี “grasp technique” แทนการใช้วิธี “punch biopsy” แบบเดิม เนื่องจากได้ชิ้นเนื้อขนาดใหญ่กว่า(7)

          การลุกลามถึงชั้นกล้ามเนื้อมดลูก เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะบ่งบอกการลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองหรือลุกลามไปยังอวัยวะอื่นได้ การประเมินทางรังสีวินิจฉัยได้แก่ การตรวจอัลตราซาวน์ทางช่องคลอด (transvaginal ultrasonography) และการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging: MRI) มีบทบาทในการประเมินการลุกลามถึงชั้นกล้ามเนื้อมดลูก การลุกลามลงมายังปากมดลูกและการลุกลามไปยังรังไข่ โดยความไวและความจำเพาะของการวินิจฉัยการลุกลามถึงชั้นกล้ามเนื้อมดลูกจาก MRI เป็นร้อยละ 70-95 และ 80-95 ตามลำดับ(8,9,10) ข้อดีของการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่เหนือกว่าการตรวจอัลตราซาวน์ทางช่องคลอด คือการประเมินรอยโรคนอกมดลูก เช่นการลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองหรืออวัยวะข้างเคียง

          National Comprehensive Cancer Network (NCCN) ได้กำหนดข้อบ่งชี้ของผู้ป่วยมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกที่เหมาะสมสำหรับการรักษาแบบรักษาภาวะการเจริญพันธุ์ไว้ดังนี้ (11)

1)      Grade 1 endometrial adenocarcinoma ที่ได้รับการยืนยันชิ้นเนื้อจากการขูดมดลูก (dilation and curettage)

2)      มะเร็งอยู่เฉพาะในชั้นเยื่อบุโพรงมดลูกซึ่งดูได้จากภาพรังสีวินิจฉัย (แนะนำ MRI มากกว่า)

3)      ไม่มีข้อห้ามของการใช้ฮอร์โมน

4)      ผู้ป่วยได้รับคำแนะนำและให้คำปรึกษาว่าไม่ใช่แนวทางการรักษาตามมาตรฐาน และมีความเสี่ยงที่เกี่ยวเนื่องกับกระบวนการรักษา

อายุ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีผลต่อการคลอดบุตรรอดชีวิตหลังการรักษามะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกแล้ว จากการศึกษาพบว่าผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า 35 ปี มีโอกาสที่ตั้งครรภ์และคลอดบุตรรอดชีวิตสำเร็จได้สูงกว่าผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า 40 ปี(12)

          การประเมินภาวะเจริญพันธุ์เพื่อดูความสามารถของรังไข่ (ovarian reserve) เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องการมีบุตรในอนาคต anti-Müllerian hormone (AMH), antral follicle count ระดับฮอร์โมน FSH วันที่ 2-5 ของรอบเดือน อายุและดัชนีมวลกาย (body mass index) ล้วนใช้ในการประเมินความสามารถของรังไข่ในการเกิดไข่ที่สมบูรณ์หลังจากการกระตุ้นไข่(7)

น้ำหนักเกินหรืออ้วน ส่งผลเสียต่อการเจริญพันธุ์ การปฏิสนธิของตัวอ่อน ระยะเวลาที่จะตั้งครรภ์สำเร็จ และผลลัพธ์ที่ดีของการตั้งครรภ์ ในทางตรงกันข้ามหากผู้ป่วยมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกที่ต้องการมีบุตร ที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วน สามารถลดน้ำหนักลงได้ จะมีผลดีต่อโอกาสสำเร็จในการตั้งครรภ์และคลอดบุตรรอดชีวิตมากขึ้น(13,14,15)

แนวทางการรักษา

1)      การรักษาด้วยฮอร์โมนชนิดรับประทาน

การศึกษาส่วนใหญ่จะใช้ฮอร์โมนโปรเจสติน (progestin) ชนิด medroxyprogesterone acetate (MPA) หรือ megestrol acetate (MA) เนื่องจากฮอร์โมนโปรเจสตินมีฤทธิ์ antiproliferative, stabilizing effects ต่อเยื่อบุโพรงมดลูก มีข้อมูลสนับสนุนว่าไม่มีความแตกต่างกันของอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี ในผู้ป่วยมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกระยะ 1A อายุน้อยกว่า 50 ปี ที่รักษาด้วยการตัดมดลูกหรือได้รับฮอร์โมนโปรเจสติน(16) มีรายงานการตอบสนองต่อฮอร์โมนถึงร้อยละ 75 จากผู้ป่วย 278 ราย และร้อยละ 32 สามารถคลอดบุตรรอดชีวิตได้(17) อีกหนึ่งการศึกษาในผู้ป่วยมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก grade 1 และ complex atypical hyperplasia มีการตอบสนองอย่างสมบูรณ์ (complete response) ร้อยละ 55 ในระยะเวลา 5.7 เดือน และในกลุ่มที่ตอบสนองสมบูรณ์นี้มีอัตราการกลับเป็นซ้ำที่ 3.5 ปี เป็นร้อยละ 0.04(18)

ยังไม่มีข้อสรุปของชนิดฮอร์โมน ขนาดยา หรือระยะเวลาที่ควรเลือกใช้ แต่ขนาดที่นิยมใช้ในการวิจัยคือ MPA 400-600 mg/day และ MA 160-320 mg/day

ปัจจัยเสี่ยงและข้อพึงระวังของผู้ป่วยที่จะใช้ฮอร์โมนได้แก่ มะเร็งเต้านม กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (myocardial infarction) ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด (pulmonary embolism) ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (deep vein thrombosis) และประวัติการสูบบุหรี่

 

2)      การรักษาด้วยห่วงอนามัยชนิดฮอร์โมน

ห่วงอนามัยชนิดฮอร์โมน (Levonorgestrel IUD) สามารถปล่อยฮอร์โมนโปรเจสตินเฉพาะต่อตำแหน่งเยื่อบุโพรงมดลูก ลดการดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ผลข้างเคียงน้อย และผู้ป่วยให้ความร่วมมือได้ดี ข้อมูลจากการศึกษาผู้ป่วยมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก grade 1 จำนวน  21 ราย และ complex atypical hyperplasia จำนวน 36 ราย พบว่าอัตราการตอบสนองอย่างสมบูรณ์เป็นร้อยละ 91 ในผู้ป่วย complex atypical hyperplasia ขณะที่ในผู้ป่วยมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก อัตราการตอบสนองอย่างสมบูรณ์เป็นร้อยละ 54 อัตราการตอบสนองบางส่วน (partial response) เป็นร้อยละ 13 และโรครุนแรงขึ้นร้อยละ 20 หลังจากติดตามไป 12 เดือน(19)

 

3)      การส่องกล้องโพรงมดลูกตัดชิ้นเนื้อร่วมกับการให้ฮอร์โมน

การส่องกล้องโพรงมดลูก (Hysteroscopic resection) ตามด้วยการรับประทานยาฮอร์โมนโปรเจสติน หรือตามด้วยการใส่ห่วงอนามัยชนิดฮอร์โมน เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกที่ต้องการมีบุตรในอนาคต

Mazzon และคณะได้ตีพิมพ์การผ่าตัดส่องกล้องโพรงมดลูกด้วยเทคนิคการตัดแบบ “3 ขั้นตอนขั้นที่ 1 ตัดเนื้องอก (tumor lesion) ขั้นที่ 2 ตัดเยื่อบุโพรงมดลูกที่อยู่ล้อมรอบ ขั้นที่ 3 ตัดกล้ามเนื้อมดลูกที่อยู่ใกล้เคียง ส่งชิ้นเนื้อเพื่อประเมินทางพยาธิวิทยา หลังจากยืนยันชิ้นเนื้อเป็น grade 1 และไม่มีการลุกลามถึงชั้นกล้ามเนื้อมดลูก จึงตามด้วยการยา MA 160 mg/day เป็นระยะเวลา 6 เดือน พบว่าผู้ป่วยทั้ง 6 ราย มีการตอบสนองอย่างสมบูรณ์  ไม่มีการกลับเป็นซ้ำหลังจากติดตามไป 50 เดือน และมีอัตราการตั้งครรภ์ร้อยละ 65(20)

ต่อมา Giampaolino และคณะได้นำเสนอเทคนิคเพิ่มเติมจาก Mazzon คือเพิ่มการสุ่มตัดชิ้นเนื้อหลายๆชิ้นหลังจากตัดชิ้นเนื้อด้วยแบบ 3 ขั้นตอนแล้ว และตามด้วยการใส่ห่วงอนามัยชนิดฮอร์โมนหลังผลชิ้นเนื้อยืนยันเป็น grade 1 มีอัตราการตอบสนองแบบสมบูรณ์เป็นร้อยละ 78 มีการกลับเป็นซ้ำร้อยละ 2(21)

แต่อย่างไรก็ตามยังไม่มีการศึกษาแบบ randomized controlled trial ที่มีความน่าเชื่อถือที่จะใช้วิธีนี้เป็นมาตรฐานในการรักษา

 

 

4)      การรักษาแบบอื่นๆ

ESGO/ESHRE/ESGE แนะนำอย่างยิ่งให้ควบคุมน้ำหนักในระหว่างกระบวนการรักษามะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกแบบรักษาภาวะการเจริญพันธุ์ เพื่อเพิ่มโอกาสในการตอบสนองต่อการรักษา(7) นอกจากนี้แพทย์ผู้ดูแลควรคัดกรองเบาหวานในผู้ป่วยมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกที่มีภาวะอ้วน เพื่อรักษาตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์และเพื่อให้ได้ผลลัพธ์การตั้งครรภ์ที่ดี (22)

การรักษามาตรฐานของมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกคือการตัดมดลูกและรังไข่ โดยเฉพาะการตัดรังไข่ในผู้ป่วยอายุน้อย จะเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด ลดความหนาแน่นของมวลกระดูก และหมดประจำเดือนก่อนวัยอันควร แต่ในทางตรงกันข้ามโอกาสที่จะพบมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกร่วมกับมะเร็งรังไข่ หรือ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกที่มีการลุกลามไปรังไข่ก็มีเพิ่มขึ้น หากมีการเก็บรังไข่ไว้ NCCN จึงแนะนำให้เลือกเก็บรังไข่ไว้ผู้หญิงก่อนวัยหมดประจำเดือนที่เป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกที่มีรังไข่หน้าตาปกติ และไม่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ หรือ Lynch syndrome(11) โดยมีข้อมูลสนับสนุนว่ามีการลุกลามไปรังไข่ แบบ micrometastasis ในผู้ป่วยระยะ IA ชนิด low grade ได้น้อยเพียงร้อยละ 0.4-0.8(23)

มีการศึกษาหาตัวบ่งชี้ที่จะช่วยทำนายการตอบสนองต่อฮอร์โมน พบว่าระดับ estrogen receptor (ER) และ progesterone receptor (PR) สูง มีความสัมพันธ์ต่อการสนองต่อฮอร์โมนที่ดี แต่การที่ไม่มี estrogen/progesterone expression ไม่ได้เป็นข้อห้ามของการรักษามะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกแบบรักษาภาวะการเจริญพันธุ์(7)

 

5)      การติดตามการรักษา

การสุ่มตรวจเยื่อบุโพรงมดลูกซ้ำในการระหว่างการรักษา มีประโยชน์ในการดูการตอบสนองต่อการรักษา และประเมินการกลับเป็นซ้ำของตัวโรค NCCN แนะนำให้ติดตามอาการอย่างใกล้ชิดด้วยการสุ่มตรวจเยื่อบุโพรงมดลูกทุก 3-6 เดือน ด้วย pipelle หรือขูดมดลูก(11)

ถ้าผู้ป่วยมีการตอบสนองต่อการรักษาอย่างสมบูรณ์ ควรแนะนำให้รีบมีบุตร หากผู้ป่วยยังไม่ต้องการมีบุตรในทันที ควรได้รับฮอร์โมนโปรเจสตินต่อเนื่องไปก่อน

เนื่องจากการรักษาภาวะการเจริญพันธุ์ในผู้ป่วยมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกไม่ใช่การรักษามาตรฐาน ผู้ป่วยควรได้รับคำแนะนำให้ตัดมดลูก และ/หรือรังไข่และผ่าตัดกำหนดระยะมะเร็งหลังจากมีบุตรครบ โรครุนแรงมากขึ้นในระหว่างการติดตามการรักษา หรือโรคยังคงอยู่หลังจากรักษาด้วยฮอร์โมนมาแล้ว 6-12 เดือน

 

 

 

 

6)      การดูแลรักษาภาวะการเจริญพันธุ์

ทางเลือกและการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ (Assisted Reproductive Technology) ขึ้นอยู่กับระยะของมะเร็ง การวางแผนการรักษา ระยะเวลาก่อนเริ่มรักษามะเร็ง การตัดสินใจของผู้ป่วยและคู่สมรส

-         การแช่แข็งไข่ (oocyte cryopreservation) คือการเก็บไข่จากรังไข่ แล้วนำมาลดอุณหภูมิขณะแช่แข็งลงอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันการเกิดผลึกน้ำแข็งมาทำลายเซลล์ (vitrification) และนำไปแช่แข็งไว้ เมื่อพร้อมจะมีบุตรจะนำไข่ที่แช่แข็งไว้มาละลายแล้วผสมกับอสุจิ ให้ได้ตัวอ่อนต่อไป เหมาะสำหรับผู้หญิงที่ยังไม่มีคู่สมรส หรือไม่ต้องการแช่แข็งแบบตัวอ่อน โดยมีหลากหลายแนวทางในการกระตุ้นไข่ก่อนเก็บไข่ แนวทาง “random-start protocol” คือการให้ gonadotropin วันใดก็ได้ในรอบเดือน ข้อดีคือลดระยะเวลาในการรักษาภาวะการเจริญพันธุ์ก่อนเริ่มรักษามะเร็ง (ประมาณ 2 สัปดาห์) และยังสามารถทำได้ในกรณีผู้ป่วยใส่ห่วงอนามัยชนิดฮอร์โมนอยู่(24)

-         การแช่แข็งตัวอ่อน (embryo cryopreservation) ทำคล้ายการแช่แข็งไข่ แต่นำไข่ที่ได้มาผสมกับอสุจิให้ได้ตัวอ่อนในระยะ blastocyst ก่อนจึงจะนำไปแช่แข็ง ซึ่งมีโอกาสตั้งครรภ์ได้สำเร็จมากขึ้น และขึ้นอยู่กับอายุของผู้ป่วยขณะแช่แข็งตัวอ่อน มีรายงานโอกาสคลอดบุตรรอดชีวิตในผู้หญิงอายุน้อยกว่า 40 ปี อยู่ที่ร้อยละ 40(25) นอกจากนี้ยังมีผลดีในผู้ป่วยมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกชนิดที่สัมพันธ์กับการถ่ายทอดทางพันธุกรรม (Lynch syndrome) ในการตรวจหาความผิดปกติทางพันธุกรรมของตัวอ่อนที่ได้อีกด้วย

-         In Vitro maturation เป็นการเก็บไข่ในระยะ germinal vesicles แล้วนำมาเลี้ยงต่อในห้องปฏิบัติการเพื่อให้ได้ไข่ที่สมบูรณ์ มีประโยชน์ในผู้ป่วยที่มีภาวะ polycystic ovarian syndrome ซึ่งสัมพันธ์กับภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรังและเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เนื่องจากหลีกเลี่ยงการกระตุ้นไข่ปกติที่จะทำให้เกิดภาวะ ovarian hyperstimulation syndrome ได้ง่ายในผู้ป่วยกลุ่มนี้ แต่โอกาสการฝังตัว การตั้งครรภ์และการคลอดบุตรรอดชีวิตอาจน้อยกว่าวิธีอื่นๆ

-         การตั้งครรภ์แทน หรือการอุ้มบุญ (gestational surrogacy) ในผู้ป่วยมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกที่จำเป็นต้องตัดมดลูก การแช่แข็งไข่หรือตัวอ่อนไว้ และอุ้มบุญในอนาคตเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง โดยผู้หญิงที่ตั้งครรภ์แทนต้องอายุระหว่าง 20-40 ปี เคยมีบุตรมาก่อน ผ่านการตรวจประเมินความพร้อมด้านร่างกายจิตใจ และได้รับความยินยอมจากสามี

 

บทสรุป

          ความต้องการมีบุตรในผู้ป่วยมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เป็นสิ่งต้องสมดุลระหว่างความปลอดภัยจากโรคมะเร็งของผู้ป่วยและความต้องการของผู้ป่วยและครอบครัว ในฐานะแพทย์ผู้ดูแล การเลือกผู้ป่วยที่เหมาะสมกับการรักษาภาวะการเจริญพันธุ์ โดยผ่านการให้คำแนะนำอย่างเหมาะสมถึงผลดี ผลเสีย มาตรฐานการรักษาอย่างครอบคลุมคือสิ่งที่สำคัญที่สุด

 

เอกสารอ้างอิง

1.       Sung H, Ferlay J, Siegel RL, et al. Global cancer statistics 2020: GLOBOCAN estimates of incidence and mortality worldwide for 36 cancers in 185 countries. CA Cancer J Clin 2021;71:209–49.

2.       World Health Organization (WHO). Globocan Thailand 2020. Available: https://gco.iarc.fr/today/fact-sheets-cancers [Accessed March 9, 2023].

3.       Berek JS, Hacker NF. Gynecologic oncology. 7th ed. China: Wolters Kluwer; 2021.

4.       Creasman, WT, Morrow CP, Bundy BN, Homesley HD, Graham JE, Heller PB. Surgical pathologic spread patterns of endometrial cancer. A Gynecologic Oncology Group Study. Cancer 1987;60:2035–41.

5.       Gonthier C, Douhnai D. Koskas M. Lymph node metastasis probability in young patients eligible for conservative management of endometrial cancer. Gynecol Oncol 2020;157:131–5.

6.       Leitao MM, Kehoe S, Barakat RR, Alektiar K, Gattoc LP, Rabbitt C, et al. Comparison of D&C and office endometrial biopsy accuracy in patients with FIGO grade 1 endometrial adenocarcinoma. Gynecol Oncol 2009;113:105–8.

7.       Rodolakis K, Scambia G, Planchamp F, Acien M, Sardo ADS, Sardo M, et al. ESGO/ESHRE/ESGE Guidelines for the fertility-sparing treatment of patients with endometrial carcinoma. Int J Gynecol Cancer 2023;33:208–22.

8.       Andreano A, Rechichi G, Rebora P, Sironi S, Valsecchi MG, Galimberti S. MR diffusion imaging for preoperative staging of myometrial invasion in patients with endometrial cancer: A systematic review and meta-analysis. Eur Radiol 2014;24:1327–38.

9.       Sala E, Rockall AG, Freeman SJ, Mitchell DG, Reinhold C. The Added Role of MR Imaging in Treatment Stratification of Patients with Gynecologic Malignancies: What the Radiologist Needs to Know. Radiology 2013;266:717–40.

10.   Beddy P, Moyle P, Kataoka M, Yamamoto AK, Joubert I, Lomas D, Crawford R, Sala E. Evaluation of Depth of Myometrial Invasion and Overall Staging in Endometrial Cancer: Comparison of Diffusion-weighted and Dynamic Contrast-enhanced MR Imaging. Radiology 2012;262:530–7.

11.   NCCN Clinical Practice Guidelines in Oncology (NCCN Guidelines®). Uterine Neoplasm. Version 1.2018—October 13, 2017; NCCN: Plymouth Meeting;PA:2017.

12.   Yu M, Wang Y, Yuan Z, Zong X, Huo X, Cao DY, Yang JX, Shen K. Fertility-Sparing Treatment in Young Patients with Grade 2 Presumed Stage IA Endometrioid Endometrial Adenocarcinoma. Front Oncol 2020;10:1437.

13.   Ribeiro LM, Sasaki LMP, Silva AA, et al. Overweight, obesity and assisted reproduction: a systematic review and meta-analysis. Eur J Obstet Gynecol Reprod Biol 2022;271:117–27.

14.   Chen M, Jin Y, Li Y, et al. Oncologic and reproductive outcomes after fertility-sparing management with oral progestin for women with complex endometrial hyperplasia and endometrial cancer. Int J
Gynaecol Obstet 2016;132:34–8.

15.   Gonthier C, Walker F, Luton D, et al. Impact of obesity on the results of fertility-sparing management for atypical hyperplasia and grade 1 endometrial cancer. Gynecol Oncol 2014;133:33–7.

16.   Ruiz MP, Huang Y, Hou JY, Tergas AI, Burke WM, Ananth CV, Neugut AI, Hershman DL, Wright JD. All-cause mortality in young women with endometrial cancer receiving progesterone therapy. Am J Obstet Gynecol 2017;217:669.

17.   Royal College of Obstetricians and Gynaecologists. Fertility sparing treatments in gynaecological oncology. Scientific Impact Paper 2013;35.

18.   Simpson AN, Feigenberg F, Clarke BA, et al. Fertility sparing treatment of complex atypical hyperplasia and low-grade endometrial cancer using oral progestin. Gynecol Oncol 2014;133:229-33.

19.   Westin SN, Fellman B, Sun CC, Broaddus RR, Woodall ML, Pal N, et al. Prospective phase II trial of levonorgestrel intrauterine device: Nonsurgical approach for complex atypical hyperplasia and early-stage endometrial cancer. Am J Obstet Gynecol 2021;224:191.

20.   Mazzon, I.; Corrado, G.; Masciullo, V.; Morricone, D.; Ferrandina, M.G.; Scambia, G. Conservative surgical management of stage IA endometrial carcinoma for fertility preservation. Fertil. Steril. 2010, 93, 1286–1289.

21.   Giampaolino P, Sardo ADS, Mollo , Raffone A, Travaglino A, Boccellino A, et al. Hysteroscopic Endometrial Focal Resection followed by Levonorgestrel Intrauterine Device Insertion as a Fertility-Sparing Treatment of Atypical Endometrial Hyperplasia and Early Endometrial Cancer: A Retrospective Study. J Minim Invasive Gynecol. 2019;26:648–56.

22.   Malaza N, Masete M, Adam S, Dias S, Nyawo T, Pheiffer C. A Systematic Review to Compare Adverse Pregnancy Outcomes in Women with Pregestational Diabetes and Gestational Diabetes. Int J Environ Res Public Health 2022;19:10846.

23.   Matsuo K, Mandelbaum RS, Matsuzaki S, Klar M, Roman LD, Wright JD. Ovarian conservation for young women with early-stage, low-grade endometrial cancer: A 2-step schema. Am J Obstet Gynecol. 2021;224:574–84.

24.   Cakmak H, Rosen MP. Ovarian stimulation in cancer patients. Fertil Steril. 2013;99:476–84.

25.   Cobo A, Garcia-Velasco J, Domingo J, Pellicer A, Remohí J. Elective and Onco-fertility preservation: Factors related to IVF outcomes. Hum Reprod 2018;33:2222–31.