สมาชิก

Login เข้าสู่ระบบ
กรุณากรอกอีเมล์ หรือ เลขใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม
กรุณากรอกรหัสผ่าน

สมัครสมาชิกใหม่

เพื่อสิทธิ์ในการเข้าใช้งานที่มากกว่า

เทคโนโลยีดิจิตอลช่วยการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งนรีเวชในยุค New Normal

เทคโนโลยีดิจิตอลช่วยการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งนรีเวชในยุค new normal

ผศ.พญ.ณัฐพร จันทร์ดียิ่ง

ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา

คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช

การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งนรีเวช จำนวนผู้ป่วยที่มารับการวินิจฉัย ดูแลรักษาและติดตามต่อเนื่องลดลง เนื่องจากทั้งความต้องการของผู้ป่วยและจากมาตรการภาครัฐ และแนวทางลดความแออัดของโรงพยาบาล(1) สถานการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลต่อ ผลการรักษาผู้ป่วย อัตราการรอดชีวิต รวมทั้ง patient-reported outcomes (PROs) ต่างๆ เช่น คุณภาพชีวิต ความปวด จำนวนครั้งที่มาโรงพยาบาลภายหลังการรักษา(2) ด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ในปัจจุบัน จึงมีการนำเอาเทคโนโลยีดิจิตอลมาประยุกต์ใช้ เพื่อทำให้การเข้าถึงการรักษาและการติดต่อระหว่างแพทย์และผู้ป่วยยังดำเนินต่อได้ เพื่อลดการเกิดผลกระทบจากการเกิดสถานการณ์การระบาด

นิยาม เนื่องจากมีการใช้คำที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิตอลที่หลากหลายเช่น digital health, telehealth หรือ eHealth ผู้นิพนธ์จึงขอเริ่มต้นจากคำนิยามเหล่านี้ก่อนเพื่อให้เข้าใจความหมายของเทคโนโลยีดังต่อไปนี้

eHealth คือการนำเทคโนโลยีนำมาใช้เป็นบางส่วนหรือทั้งหมดในการป้องกัน การวินิจฉัย การตัดสินใจรักษา การดูแลและติดตามการรักษา

Telemedicine คือ การบริการทางการแพทย์ทางไกลถึงผู้ป่วยโดยบุคลากรทางการแพทย์ โดยใช้ telecommunications platforms โดยสามารถให้บริการทางการแพทย์ได้ทั้งการประเมิน การวินิจฉัย และการรักษาผู้ป่วย

Telemonitoring คือ การใช้เทคโนโลยีดิจิตอลเพื่อการติดตามอาการ หรือสัญญาณชีพของผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจากการติดตามจะส่งมาให้บุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่ทางไกลได้ใช้ในการตัดสินใจเพื่อการวินิจฉัยหรือการรักษา

Digital therapeutics คือการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการรักษา โดยอาจนำมาใช้ทั้งกระบวนการเก็บข้อมูล จนถึงการรักษาผู้ป่วย โดยอาจเป็นการใช้ algorithms มาช่วยในการรักษา

ประโยชน์ของการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลช่วยการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งนรีเวช(2)

(1) ความง่ายในการใช้เนื่องจากผู้ป่วยในยุคปัจจุบันมีความคุ้นเคยต่อการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น

(2) เพื่อให้มั่นใจว่ามีการเข้าถึงจริง หรือเป็นประโยชน์ในการเก็บข้อมูลการใช้

(3) สามารถดัดแปลงใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย

(4) สามารถใช้สื่อสารระหว่างบุคลากรทางการแพทย์  

(5) เป็นเครื่องมือในการให้สุขศึกษาหรือการให้ psychological intervention แก่ผู้ป่วย  

ข้อจำกัดของการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลช่วยการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งนรีเวช(2)

(1) ปัญหาเรื่องการเชื่อมต่อสัญญาณและเครือข่าย

(2) ข้อจำกัดในการใช้เรื่องการสัมผัสตัวผู้ป่วย การตรวจร่างกาย และการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ

(3) ปัญหาเรื่องภาษา เนื่องจากเทคโนโลยียังไม่รองรับภาษาไทย

การใช้เทคโนโลยีดิจิตอลในแต่ละกระบวนการดูแลรักษา

การให้คำปรึกษาและการประเมินก่อนการผ่าตัด

ในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 อาจต้องมีการเลื่อน หรือลดการส่งตัวผู้ป่วย การให้คำปรึกษาทางไกลในลักษณะ tumor boards ซึ่งเป็นการประเมินโดยสหวิชาชีพทางไกลจึงมีบทบาทสำคัญมากขึ้น เทคโนโลยีโทรเวช หรือ Telemedicine ทำให้เกิดการเชื่อมต่อการสื่อสารของแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไปกับสูตินรีแพทย์ในโรงพยาลศูนย์ หรือโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยได้ง่ายมากขึ้น การใช้เทคโนโลยีโทรเวชทำให้เกิดโอกาสในการร่วมมือในการรักษาเช่นการส่งตัวมาผ่าตัดในโรงพยาบาลศูนย์ หรือโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแล้วส่งตัวไปให้ยาต่อที่โรงพยาบาลทั่วไป หรือโรงพยาบาลชุมชน โดยสามารถติดต่อแพทย์ในโรงพยาบาลศูนย์หรือ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย อย่างใกล้ชิด(3) เทคโนโลยีที่ใช้ในกระบวนการดังกล่าวได้แก่ การทำ video conference หรือการส่งภาพรังสี หรือพยาธิวิทยาทางไกล การใช้โปรแกรมการดูภาพรังสีหรือพยาธิวิทยาร่วมกันระหว่างโรงพยาบาล(4) ในโรงพยาบาล ที่ยังไม่ได้มีการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวการใช้การติดต่อทางโทรศัพท์หรือ แอปพลิเคชันส่งข้อความและรูปเช่น LINE หรือ messenger ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน(5)

นอกจากการติดต่อกันระหว่างแพทย์หรือทีมผู้ดูแลรักษาแล้วการติดต่อระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์เฉพาะทางโดยตรงก็สามารถทำได้ผ่านเทคโนโลยีดิจิตอลโดยอาจใช้เครือข่าย telemedicine หรือการทำ video conference กับผู้ป่วยก่อนมาพบ(6) จากการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบจาก 19 การศึกษา ผู้ป่วยมะเร็งรวม 709 คนพบว่าผู้ป่วยพึงพอใจในการพบแพทย์ทางไกลผ่านเครือข่าย video consultation เทียบเท่ากับการพบแพทย์แบบพบหน้า(7)

แม้เทคโนโลยีดังกล่าวจะเอื้อต่อการติดต่อระหว่างกันของบุคลากรทางการแพทย์แต่ในการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งนรีเวชยังมีปัญหาในการใช้เทคโนโลยีเช่นการตรวจร่างกาย หรือการทำ colposcopy ซึ่งข้อจำกัดนี้สูตินรีแพทย์อาจร่วมมือกันระหว่างโรงพยาบาลในการตรวจร่างกายหรือส่งรายละเอียดสิ่งที่ตรวจพบมาปรึกษาผ่านทางช่องทางต่างๆเพื่อวางแผนการรักษาร่วมกัน ส่วนการทำ colposcopy ซึ่งสามารถปรึกษากับสูตินรีแพทย์ที่โรงพยาบาลใหญ่ก็สามารถทำได้และมีการศึกษาว่าแพทย์ที่ใช้มีความพึงพอใจ และให้ผลการคัดกรองที่ยอมรับได้และเริ่มมีการนำมาใช้ในหลายประเทศ(8-10)


รูปที่ 1 ตัวอย่าง colposcopy telemedicine equipment จากซ้ายไปขวา - Gynocular device, telemedicine smartphone based patient record system, clinical examination and Swede score tool.

การผ่าตัด

ในปัจจุบันแม้มีการพัฒนาการผ่าตัดทางไกลหรือ telesurgery โดยเป็นการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ และมีการสั่งการจากแพทย์ซึ่งอยู่อีกจุดหนึ่งแต่ด้วยราคาที่แพง และการกระจายของผู้เชี่ยวชาญยังไม่มากจึงยังไม่เป็นที่แพร่หลาย ในด้านมะเร็งนรีเวชการใช้หุ่นยนต์ผ่าตัดยังไม่ได้เป็นการรักษามาตรฐาน ดังนั้นเทคโนโลยีดิจิตอลที่มีการนำมาใช้เพื่อช่วยในการรักษาในการผ่าตัดโดยส่วนใหญ่อยู่ในรูปของ telementoring หรือการให้คำแนะนำระหว่างการผ่าตัดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งมีการพัฒนารูปแบบและมีการศึกษาพบว่าให้ผลเป็นที่น่าพอใจ(11-12) นอกจากนั้นยังมีการพัฒนาการส่งตรวจทางพยาธิวิทยาโดยส่ง fresh frozen โดยมีการปรึกษาผ่านทาง telepathology(13) ด้วย ซึ่งทั้งสองรูปแบบช่วยให้สูตินรีแพทย์ทั่วไปสามารถผ่าตัดผู้ป่วยมะเร็งได้ หากจำเป็นต้องผ่าตัดและไม่สามารถส่งตัวได้เร็วเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19

การติดตามหลังการรักษา

สูตินรีแพทย์สามารถติดตามการรักษาโดยการใช้ video conference การโทรศัพท์ หรือ       แอปพลิเคชันส่งข้อความได้เช่นเดียวกับการประเมินก่อนการรักษา โดยจากการศึกษาพบว่าผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดมีความพึงพอใจในการติดตามผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิตอล(14) นอกจากนั้นการใช้เทคโนโลยียังช่วยเพิ่มการเข้าถึงการให้จิตบำบัด หรือการให้การดูแลแบบประคับประคองในรูปแบบที่หลากหลายเช่นทาง website หรือ application โดยจากการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ และการวิเคราะห์อภิมานของผู้นิพนธ์พบว่าการให้จิตบำบัดทางออนไลน์ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตทางจิตใจ ทำให้ผู้ป่วยนอนหลับได้ดีขึ้น แต่โดยรวมยังไม่สามารถลดโอกาสการเกิดภาวะวิตกกังวลหรือซึมเศร้าได้(15)

เทคโนโลยีดิจิตอลอุบัติใหม่ที่มีแนวโน้มจะสามารถนำมาใช้ได้ในอนาคต

ปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence; AI)

เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ได้เริ่มนำมาใช้ในทางมะเร็งนรีเวชมากขึ้นโดยเฉพาะการใช้ในการวินิจฉัยความผิดปกติที่ปากมดลูกในการทำ colposcopy เทคโนโลยีดังกล่าวทำให้การวินิจฉัยปากมดลูกที่ผิดปกติทำได้โดยเร็วผ่านการใช้ AI application โดยจากการศึกษาพบว่า การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สำหรับจัดกลุ่มความผิดปกติของปากมดลูกในการทำ colposcopy ให้ผลที่น่าพอใจในทางคลินิก(16)

Telemonitoring

ปัจจุบันเริ่มมีการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลมาประยุกต์ใช้ในการติดตามอาการของผู้ป่วยที่บ้าน โดยในต่างประเทศที่ใช้กันอย่างกว้างขวางได้แก่ การใช้เทคโนโลยี IoT โดยผู้ป่วยสามารถเข้าใช้ผ่านอุปกรณ์ IoT หรือผ่านทาง สมาร์ทโฟน เพื่อติดตามอาการที่บ้าน และใช้ในการ early detection ความผิดปกติต่างๆ ตัวอย่างได้แก่ self-monitoring tools การติดตามสัญญาณชีพ หรืออัตราการเต้นของหัวใจ และติดตามการนอนหลับซึ่งส่งผลต่ออาการทางจิตและความเครียดของผู้ป่วยมะเร็ง(3,4,15) อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยระบบที่มั่นคง เสถียร และปลอดภัยในการนำเข้าและส่งต่อข้อมูลการเจ็บป่วย และการดูแลรักษา ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะสำเร็จได้ง่ายหากมีระบบสัญญาณที่ดีเช่น 5G networks และระบบ blockchain ก็จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการส่งต่อข้อมูล ทำให้การใช้เทคโนโลยีดิจิตอลมีความเป็นไปได้ที่จะใช้ในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น(2)

สรุป

ปัจจุบันมีเทคโลโลยีดิจิตอลที่หลากหลายซึ่งสูตินรีแพทย์สามารถนำมาใช้เพื่อให้ผู้ป่วยมะเร็งนรีเวชได้รับการรักษาที่ดีแม้อยู่ในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีส่วนใหญ่ถูกพัฒนาขึ้นในต่างประเทศจึงอาจยังไม่รองรับการใช้ในประเทศไทยและยังมีประเด็นสำคัญที่สูตินรีแพทย์ต้องให้ความสนใจทั้งเรื่องความเป็นส่วนตัว การรักษาความลับของผู้ป่วย และการให้ความร่วมมือในการรักษา


เอกสารอ้างอิง

1. Nogami Y, Komatsu H, Makabe T, Hasegawa Y, Yokoyama Y, Kawana K, et al.; COVID-19 Task Force of the Japan Society of Gynecologic Oncology. Impact of COVID-19 on gynecologic cancer treatment in Japan: a nationwide survey by the Japan Society of Gynecologic Oncology (JSGO). J Gynecol Oncol 2022;33.e8.

2.  Aapro M, Bossi P, Dasari A, Fallowfield L, Gascón P, Geller M, et al. Digital health for optimal supportive care in oncology: benefits, limits, and future perspectives. Support Care Cancer 2020; 28:4589-612.

3. Shalowitz DI, Smith AG, Bell MC, Gibb RK. Teleoncology for gynecologic cancers. Gynecol Oncol 2015; 139:172-7.

4. Morris BB, Rossi B, Fuemmeler B. The role of digital health technology in rural cancer care delivery: A systematic review. J Rural Health 2021.

5. Satcher R.L., Bogler O., Hyle L., Lee A., Simmons A, Williams R., et al. Telemedicine and telesurgery in cancer care: Inaugural conference at MD Anderson Cancer Center. J. Surg Oncol 2014; 110:353-9.

6.  Sabesan S. Medical models of teleoncology: current status and future directions. Asia Pac. J Clin Oncol 2014; 10:200-4.

7.      Kitamura C., Zurawel-Balaura L., Wong R.K.S. How effective is video consultation in clinical oncology? A systematic review. Curr Oncol 2010; 17:17-27.

8.      Hitt W.C., Low G., Mac Bird T., Ott R. Telemedical cervical cancer screening to bridge medicaid service care gap for rural women. Telemed J E Health 2013; 19:403-8.

9.      Sato M, Shintani D, Hanaoka M, Sato S, Miwa M, Ogasawara A, et al. A pilot study of mobile digital colposcopy in Japanese patients with cervical intraepithelial neoplasm. Mol Clin Oncol. 2021; 15:207.

10.   Taghavi K, Banerjee D, Mandal R, Kallner H.K., Thorsell M, Friis T, et al. Colposcopy telemedicine: live versus static swede score and accuracy in detecting CIN2+, a cross-sectional pilot study. BMC Womens Health. 2018; 18:89.

11.   Murugesu S, Galazis N, Jones BP, Chan M, Bracewell-Milnes T, Ahmed-Salim Y, et al. Evaluating the use of telemedicine in gynaecological practice: a systematic review. BMJ Open 2020 Dec 7; 10:e039457.

12.   Gambadauro P., Magos A. NEST (network enhanced surgical training): a PC-based system for telementoring in gynaecological surgery. Eur J Obstet Gynecol Reprod Biol. 2008; 139:222-5.

13.   Pantanowitz L., Dickinson K., Evans A.J., Hassell L.A., Henricks W.H., Lennerz J.K., et. al. American Telemedicine Association clinical guidelines for telepathology. J Pathol Inform 2014; 5:39.

14.   Watanabe S.M., Fairchild A., Pituskin E., Borgersen P., Hanson J., Fassbender K. Improving access to specialist multidisciplinary palliative care consultation for rural cancer patients by videoconferencing: report of a pilot project. Support Care Cancer 2013; 21:1201-7.

15.   Chandeying N, Thongseiratch T. Online Interventions to Improve Mental Health of Pediatric, Adolescent, and Young Adult Cancer Survivors: A Systematic Review and Meta-Analysis. Front. Psychiatry 2021; 12:784615.

16.   Akazawa M, Hashimoto K. Artificial intelligence in gynecologic cancers: Current status and future challenges - A systematic review. Artif Intell Med. 2021; 120:102164.